เลือกความกว้างหน้าผ้าเพื่อลดต้นทุนการผลิตเสื้อยืด
เลือกความกว้างหน้าผ้าที่เหมาะสมกับการใช้งานเพื่อลดต้นทุนการผลิตเสื้อยืด
สำหรับช่วงนี้ต้องขอบ่นก่อนเริ่มเลยครับว่าราคาวัตถุดิบฝ้ายปรับตัวขึ้นสูง ราคาค่าขนส่งทางเรือและราคาเชื้อเพลิงภาคขนส่งปรับราคาขึ้นชนิดที่ว่าไม่รู้เมื่อไหร่จะคงที่ ทำให้ราคาผ้าฝ้ายคอตต้อน 100% หรือผ้าที่มีส่วนผสมฝ้าย (คอตต้อน) ในบ้านเราปรับราคาขึ้นสูงมาก
เป็นความโชคร้ายสำหรับประเทศเกษตรกรรมที่นำเข้าฝ้ายเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ -__-!!!
ตลกร้าย!
การเลือกใช้ความกว้างหน้าผ้าตามลักษณะงานเสื้อยืดนั้นเป็นเรื่องปกติทั่วไปสำหรับเพื่อนๆ ที่ทำงานตัดเย็บเสื้อยืดเป็นกิจวัตรอยู่แล้วไม่มีอะไรแปลกใหม่ แต่สำหรับเพื่อนๆ ที่ยังถามไถ่เข้ามานั้นผู้เขียนก็ขออนุญาตเล่าสู่กันฟังแลกเปลี่ยนความรู้กัน เพราะตัวผู้เขียนเองก็ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร ผิดบ้างถูกบ้างว่ากันไปตามหน้างานเลยได้แต่นำประสบการณ์มาเล่าสู่กันฟัง เผื่อจะพอมีประโยชน์ไม่มากก็น้อย
สำหรับการผลิตเสื้อยืดในบ้านเรานั้นหลักๆ ที่เห็นในท้องตลาดก็มักจะเป็นความกว้างหน้าผ้า ขนาด 72 นิ้ว, 36 นิ้วอบกลม และขนาดพอดีตัว Bodysize และแบบอื่นๆ แต่ก็เห็นได้น้อย ซึ่งแต่ละขนาดความกว้างนั้นมีเหตุและผลหนุนประกอบด้วยกันทั้งสิ้น
สำหรับหน้า 72 นิ้ว (หรือหน้าทอพิเศษ) นั้นส่วนใหญ่มักใช้กันในโรงงานขนาดกลางถึงโรงงานขนาดใหญ่เพราะสะดวกกับการตรวจผ้า (โต๊ะที่มีหลอดไฟด้านหลังเวลาผ้ากลิ้งผ่านเพื่อตรวจตำหนิ) และปูผ้าด้วยเครื่องจักร ความกว้างหน้าผ้าขนาด 72 นิ้วนี้ไม่ค่อยเป็นที่นิยมสำหรับโรงงานขนาดเล็กหรือจิ๋วแบบของผู้เขียนเป็นต้น อิอิอิ เนื่องจากตัดผ้ายากต้องใช้เครื่องตัดรางแถมยังต้องทำงาน 2 คนขึ้นไป
ในขณะที่ผ้าอบกลม (ลักษณะเป็นวงกลมต่อเนื่องคล้ายๆ ผ้าถุง) ที่มีความกว้าง 36 หรือ 37 นิ้วนั้นเป็นที่นิยมสำหรับโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็กเนื่องจากง่ายต่อการตัด (คนเดียวก็สามารถทำงานได้ตอนปูผ้าและตัดผ้า) ทั้งยังง่ายต่อการเย็บเพราะเสื้อที่มีตะเข็บด้านข้างนั้นเย็บง่ายกว่าและเร็วกว่าเสื้อที่ไม่มีตะเข็บด้านข้าง (ง่ายกว่ายังไงนั้นขออนุญาตอธิบายในตอนต่อไป)
แต่ถึงกระนั้นผ้าหน้า 36 นิ้วก็มักจะมีอัตราสูญเสียจากการตัดผ้าค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะด้านข้าง (ขึ้นอยู่กับการจัดวางแบบแพทเทิ่นตอนตัดแต่ก็ยังมีเหลือให้เห็น) ผ้าขนาดหน้ากว้าง 36 นิ้วเป็นผ้าที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในท้องตลาด หาง่ายและทำงานง่าย (แต่ตรวจตำหนิผ้ายากนิดหนึ่ง)
** จะเห็นได้ว่ามีผ้าที่เหลืออยู่ด้านขวามือบริเวณที่ปากกาวางอยู่ อัตรสูญเสียเหล่านี้ถูกคิดคำนวณอยู่ในต้นทุนเช่นกัน หากเป็นเสื้อไซร์ใหญ่ก็อาจจะมีอัตราสูญเสียน้อยลงตามสัดส่วน **
ส่วนผ้าหน้ากว้างขนาดพอดีตัว หรือ bodysize นั้น เป็นที่นิยมน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับขนาดผ้าหน้ากว้าง 72 นิ้วหรือ 36 นิ้ว เนื่องด้วยเหตุผลการทำงาน ตั้งแต่ขั้นตอนการทอผ้า, ข้อจำกัดเรื่องความกว้างหน้าผ้า (ผ้าขนาดพอดีตัวจำกัดความกว้างที่ 16, 18, 20, 22 และ 24 นิ้วตามศักยภาพของเครื่องทอโดยเครื่องทอผ้าแต่ละเครื่องทอได้ขนาดเดียว) และการตรวจตำหนิผ้า, การตัดเย็บที่ยุ่งยากกว่า ทำให้ความนิยมน้อยกว่าผ้าหน้า 36 นิ้ว (ช่างเย็บไม่ค่อยชอบ ว่างั้นเถอะ 555 ทั้งลักษณะการทำงานและการแบ่งงานเนื่องด้วยขั้นตอนการทำงานที่หายไป 1 ขั้นตอนคือโพ้งตะเข็บข้าง ไม่ค่อยถูกใจช่างเย็บเพราะแบ่งงานกันไม่ถูกโดยเฉพาะโรงงานไหนที่คิดรายได้เป็นงานเหมาแต่ละชิ้น) หากแต่ข้อดีนั้นเป็นเรื่องของอัตราสูญเสียที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับ 2 ขนาดที่กล่าวมาข้างต้น
ในสถานการณ์ปัจจุบันที่สภาพเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย ต้นทุนด้านต่างๆปรับตัวขึ้นสูง ทำให้เสื้อผ้าที่เคยเป็นปัจจัย 4 นั้นกลับกลายมาเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย การลดต้นทุนเพื่อให้สามารถประคับประคองสถานการณ์นั้นเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะสินค้าเสื้อยืดที่กำไรต่อหน่อยเริ่มน้อยลงเรื่อยๆ นั้นการลดต้นทุนได้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีต่อธุรกิจ การเลือกใช้ความกว้างหน้าผ้าให้เหมาะสมกับการก็ถือว่าเป็นการลดต้นทุน, ลดการสูญเสียลงไปได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
รักและเคารพเพื่อนๆ ทุกคน
โอ
สามารภพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กันได้ทางไลน์ Line ID = 0984761334 ครับ ^_^